HTTP Status Code คืออะไร? เพื่อน ๆ หลายคนอาจเคยเข้าเว็บไซต์แล้วต้องเจอกับหน้าจอสีขาว และมีข้อความเขียนระบุไว้ว่า “404 Not Found” เหตุการณ์เช่นนี้อาจทำให้คุณเกิดข้อสงสัยว่าเจ้าตัวเลข 3 หลักนี้หมายความว่าอย่างไร? ทำไมเราถึงไม่สามารถเข้าสู่หน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ได้? ซึ่งจริง ๆ แล้ว โค้ดตัวเลขในลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า “HTTP Status Code” นั่นเอง
บทความนี้จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยกันว่า HTTP Status Code คืออะไร HTTP Status Code มีอะไรบ้าง รวมไปถึงวิธีการตรวจสอบและแก้ไขเมื่อพบ HTTP Status Code รูปแบบต่าง ๆ
HTTP Status Code คืออะไร?
HTTP Status Code คือ ชุดรหัสหรือชุดโค้ดมาตรฐาน ที่บ่งบอกถึงสถานะการทำงานหรือสถานะการตอบสนองของเซิฟเวอร์เมื่อผู้ใช้ต้องการเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ โดยจะมีลักษณะเป็นตัวเลข 3 หลัก ซึ่ง HTTP Status Code คือสิ่งที่จะทำให้เรารู้ได้ว่าการเรียกใช้งานเว็บไซต์มีสถานะการทำงานที่เป็นปกติไม่ หากเรามีความรู้ความเข้าใจว่า HTTP Status Code มีอะไรบ้าง เราก็จะสามารถหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
โดยปกติแล้ว กระบวนการพื้นฐานที่เกิดขึ้นของการเข้าใช้งานเว็บไซต์ คือการขอข้อมูล และการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างเซิฟเวอร์และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต กล่าวคือเมื่อผู้ใช้มีการระบุ URL ที่ต้องการเข้าถึง ระบบจะทำการส่งคำร้องขอนั้นไปยังเซิฟเวอร์เพื่อขอข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ (Request) เมื่อเซิฟเวอร์ได้ทำการค้นหาและประมวลผลข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลนั้นจะถูกส่งกลับมาให้ผู้ขอข้อมูล (Response) พร้อมกับสถานะการตอบสนองของเซิฟเวอร์ ซึ่งก็คือ HTTP Status Code นั่นเอง
HTTP Status Code ชุดไหนที่มักพบเมื่อต้องทำเว็บไซต์
หลายคนอาจเคยเห็นรหัส HTTP Status Code หลากหลายรูปแบบ และอาจสงสัยว่า HTTP Status Code มีอะไรบ้าง? โดย HTTP Status Code นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1xx – Informational, 2xx – Success, 3xx – Redirect, 4xx – Client Error และ 5xx – Server Error แต่ชุดโค้ดที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด คือ กลุ่ม 3xx และ กลุ่ม 4xx ดังนี้
กลุ่ม 3XX (Redirect)
กลุ่ม 3xx หรือที่เรียกว่า Redirect หมายถึงชุดโค้ดที่จะถูกใช้ในกรณีที่หน้าเว็บไซต์ที่เราต้องการเข้าถึง ถูกโยกย้ายไปที่อื่นแล้ว โดยมีตัวอย่างสถานะที่พบบ่อย ดังนี้
300 (Multiple Choices) : หลังจากผู้ใช้งาน (Client) มีการร้องขอจากเซิฟเวอร์แล้วพบว่าสามารถส่งข้อมูลตอบกลับมาได้มากกว่า 1 ชุดข้อมูล ดังนั้นระบบจะให้ผู้ใช้งานทำการเลือกหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการเข้า และจะ redirect ผู้ใช้งานไปยังหน้าเว็บนั้น ๆ
301 (Moved Permanently) : URL ที่ผู้ใช้งาน Request ข้อมูลไปนั้น ได้ถูกย้ายไปยังที่อยู่ URL ใหม่แล้วเรียบร้อย ดังนั้นผู้ใช้งานจะถูก redirect ไปยังหน้า URL ใหม่โดยอัตโนมัติ
302 (Found) : URL ที่มีการร้องขอ ได้ถูกย้ายไปยัง URL อื่นชั่วคราว และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต ดังนั้นผู้ใช้งานยังไม่ควรเข้าใช้งานด้วย URL นี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง (ทั้งนี้ผู้ใช้งานจะถูก Redirect ไปยังหน้า URL ชั่วคราวนั้นโดยอัตโนมัติหากมีการร้องขอด้วย URL เดิม)
303 (See Other) : URL ที่มีการร้องขอ ได้ถูกย้ายไปยัง URL อื่นแล้ว โดยระบบจะต้องการทำการร้องขอด้วยวิธี GET หากต้องการเข้าถึงข้อมูลบน URL ใหม่
304 (Not Modified) : สถานะนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เคยเข้าใช้ URL นี้มาก่อน โดยสถานะนี้หมายถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเข้าใช้งานครั้งล่าสุด ดังนั้นผู้ใช้งานสามารถใช้ข้อมูลจาก cache เก่าที่เคยใช้ในครั้งก่อนต่อได้เลย โดยไม่ต้องขอข้อมูลใหม่อีกครั้ง
H3 : กลุ่ม 4XX (Client Error)
ชุดโค้ดกลุ่ม 4xx หรือ Client Error หมายถึง การร้องขอข้อมูลจากผู้ใช้งานเกิดปัญหาหรือความผิดพลาดขึ้น โดยปัญหามักเกิดจากการที่เซิฟเวอร์ไม่สามารถประมวลผลข้อมูล Request จากผู้ใช้งานได้
400 (Bad Request) : ระบบไม่สามารถประมวลผลข้อมูลจาก Request ของ Client ได้ เนื่องจากผู้ใช้งานทำการกกรอกข้อมูลที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้องตามหลักของการเขียนโค้ด ดังนั้นผู้ใช้งานควรตรวจสอบ URL อีกครั้ง และปรับแก้ไขให้ถูกต้อง
401 (Unauthorized) : ผู้ใช้งานถูกปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลของหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ เนื่องจากหน้าเว็บไซต์มีการจำกัดสิทธิเข้าถึงข้อมูล ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนการเข้าใช้งาน
402 (Payment Required) : โค้ดนี้หมายถึงหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการเข้าถึงถูกจำกัดการใช้งานไว้สำหรับในอนาคต
403 (Forbidden) : ผู้ใช้งานไม่สิทธิเข้าถึงข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ที่ร้องขอ โดยโค้ดนี้แตกต่างจากโค้ด 401 เล็กน้อย คือโค้ด 401 จะถูกใช้ในกรณีที่ระบบยังไม่ได้ยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน แต่โค้ด 403 จะแสดงขึ้นในกรณีที่ระบบได้ทำการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานแล้วเรียบร้อย แต่ผู้ใช้งานไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลนั่นเอง
404 (Not Found) : เป็นโค้ดที่หลายคนพบบ่อยที่สุด โดยโค้ดนี้หมายความว่าระบบไม่พบข้อมูลที่ตรงกับ URL ที่ผู้ใช้งานต้องการเข้าถึง
408 (Request Timeout) : Client ใช้เวลาในการส่งคำร้องขอไปยังเซิฟเวอร์นานเกินกว่าที่กำหนดไว้
HTTP Status Code สำคัญอย่างไรกับการทำ SEO
HTTP Status Code คือ ชุดโค้ดที่มีความสำคัญในการทำ SEO เป็นอย่างมาก เนื่องจาก HTTP Status Code ของหน้าเว็บไซต์จะส่งผลต่อการเก็บข้อมูลของบอท รวมไปถึงการจัดอันดับหน้าเว็บไซต์ของเราด้วย เพราะถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว HTTP Status Code จะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานไม่เห็น แต่จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองของเว็บไซต์โดยตรง
เครื่องมือช่วยตรวจสอบหน้าเว็บไซต์เมื่อเกิด Error
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจะเข้าเว็บไซต์แล้วเกิด Error ขึ้น เราสามารถตรวจสอบโค้ด HTTP Status Code บนเว็บไซต์ได้ โดยเมื่อเราสามารถระบุปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากการเช็ก HTTP Status Code ว่ามีสาเหตุมาจากไหน ก็จะสามารถประเมินวิธีแก้ HTTP Status Code เบื้องต้นได้ โดยมีเครื่องมือฟรีที่สามารถใช้งานเพื่อเช็ก HTTP Status Code ได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
Google Search Console
Google Search Console (GSC) เป็นเครื่องมืออันทรงพลังของ Google ที่นิยมใช้ในการติดตาม Performance หน้าเว็บไซต์ของเราได้ โดย GSC จะมีการใช้งานส่วนหนึ่งที่เรียกว่า URL Inspection Tool ซึ่งเราสามารถเข้าไปเช็ก URL เว็บไซต์ของเราได้ว่าสถานะ HTTP Status Code คืออะไร ณ ตอนนั้น
Screaming Frog
Screaming Frog อีกหนึ่งเครื่องมือที่นิยมใช้สำหรับงานสาย SEO โดย Screaming Frog จะเป็นเสมือนกับบอทที่เข้าไปไต่เว็บไซต์ที่ต้องการ โดยตัว Screaming Frog จะสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากเว็บไซต์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในเชิง SEO ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ HTTP Status Code นั่นเอง
สรุปความสำคัญของ http status code
จะเห็นได้ว่า HTTP Status Code คือ ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจการทำงานของเว็บไซต์ได้ดีมากยิ่งขึ้น ผ่านสถานะการตอบสนองของเซิฟเวอร์ที่มีต่อคำขอของผู้ใช้งานเว็บไซต์ ว่ามีการทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ และเมื่อเกิดปัญหาก็จะสามารถหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างตรงจุด
Markety มีบริการรับสร้างเว็บไซต์, สร้างเว็บไซต์ WordPress, สร้าง Landing Page และ Sale Page โดยมืออาชีพ สนใจติดต่อ Email : [email protected] หรือเบอร์โทรติดต่อ 02-002-9322 (ฝ่ายบริการลูกค้า), 084-509-5545 (ฝ่ายขาย), 061-924-7449 (ฝ่ายขาย)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ HTTP Status Code
1. นอกจาก 3XX และ 4XX ยังมี HTTP Status Code อื่น ๆ อีกไหม
นอกเหนือจากชุดโค้ดในกลุ่ม 3xx และ 4xx ที่สามารถพบได้บ่อยแล้ว ยังมีชุดโค้ด HTTP Status Code อื่น ๆ ที่อาจพบได้ ดังนี้
- 1xx (Informational Responses) – เป็นสถานะที่ถูกส่งมาชั่วคราว ในขณะที่ระบบกำลังประมวลผล
- 2xx (Successful Responses) – การร้องขอจากผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ประสบความสำเร็จ และเซิฟเวอร์มีการตอบสนองตามที่คาดหวังไว้
- 5xx (Server Error Responses) – ระบบล้มเหลว
2. วิธีแก้ปัญหา HTTP Status Code ยอดฮิต 404 Error
หากพบ HTTP Status Code 404 Not Found สามารถลองแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- ลองกด refresh ดูว่า Error ยังขึ้นอยู่เหมือนเดิมไหม
- ตรวจสอบ URL อีกครั้งว่ามีการสะกดผิดตรงไหนหรือไม่
- เคลียร์ข้อมูล cache เก่าที่ค้างอยู่ออกไป
- ลองเข้าเว็บไซต์จากอุปกรณ์อื่น
- ค้นหาหน้าเว็บไซต์บน Search Engine เผื่อในกรณีที่เว็บไซต์อาจเปลี่ยนชื่อ หรือถูกโยกย้าย (redirect) ไปยัง URL อื่นแล้ว
อ้างอิง (APA Reference)
HTTP response status codes. (n.d.). MDN Web Docs.
https://developer.mozilla.org/en-US/docs/Web/HTTP/Status
HTTP status codes. (n.d.). WooRank.
https://www.woorank.com/en/edu/seo-guides/what-http-status-codes-mean-in-seo
What are HTTP status codes? List of important status codes. (2017, January 31). Moz.