ในปัจจุบันเมื่อคุณเข้าใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะผ่านสมาร์ตโฟนหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ มั่นใจได้ว่าคุณจะต้องได้พบแบนเนอร์ขอคำยินยอมสำหรับเก็บข้อมูลส่วนตัว หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “Cookies” สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจ และยังสงสัยว่า Cookies คืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ในบทความนี้ Markety จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแบนเนอร์คุกกี้ (Cookies Banner) ที่ปรากฏขึ้นเมื่อกดเข้าสู่เว็บไซต์ รวมถึงไขข้อสงสัยว่า หากกดยอมรับคุกกี้ไปแล้วจะเกิดอะไรตามมาบ้าง
Cookies คืออะไร
คุกกี้ (Cookies) คือ ไฟล์ขนาดเล็กที่มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเมื่อเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ โดย Cookies จะจดจำพฤติกรรมในการใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์ (Server) และทำหน้าที่บันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน เช่น บันทึกข้อมูลการตั้งค่าภาษา บันทึกสถานะในการเข้าเว็บไซต์ของผู้ใช้งาน ไปจนถึงบันทักข้อมูลต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์เข้าสู่เบราว์เซอร์ของผู้ใช้งาน เพื่อให้การใช้งานหน้าเว็บไซต์เดิมในครั้งต่อ ๆ ไปมีการประมวลผลข้อมูลของหน้าเว็บไซต์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันประเทศไทยได้มี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ที่บังคับให้เว็บไซต์ต้องแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลก่อน จึงปรากฏหน้าต่างที่ขึ้นมาที่หน้าเว็บไซต์ให้คุณกด “ยอมรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การใช้คุกกี้ โดยสิ่งนี้จะเรียกว่า “Cookies Consent Banner” นั่นเอง อย่างไรก็ตาม Cookies บนเว็บไซต์จะไม่สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ของคุณ
เมื่อกดยอมรับ Cookies จะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อคุณกดยอมรับ Cookies บนเว็บไซต์ เท่ากับว่าคุณกำลังอนุญาตให้มีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปทำการวิเคราะห์ด้านการตลาดสำหรับทำโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และโครงสร้างเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความพัฒนาคุณภาพของเว็บไซต์ในอนาคต
แต่หากคุณกดไม่ยอมรับ Cookies บนเว็บไซต์ เท่ากับว่าคุณไม่อนุญาตให้มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวเกิดขึ้น และในบางกรณี คุณอาจจะไม่สามารถรับชมเนื้อหาบางส่วนของเว็บไซต์นั้นได้ รวมถึงคุณอาจจะไม่สามารถซื้อสินค้า หรือบริการบนเว็บไซต์ออนไลน์นั้น ๆ ได้ เนื่องจากบางเว็บไซต์ได้สร้างเงื่อนไขในการเข้าถึงเนื้อหาบางส่วน
ในส่วนของเว็บไซต์ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (Cookies Consent) จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยในการเข้าถึงเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติบนเว็บไซต์ อย่าง Google Analytics ก็มีใช้ Cookies ในการเก็บข้อมูลส่วนตัว หากคุณมีการกดยอมรับการใช้ Cookies บนเว็บไซต์ต่าง ๆ ข้อมูลในการใช้งานบน Web Browser ของคุณก็จะถูกรวบรวมไว้ที่ Google Analytics ด้วยเช่นกัน
การสร้าง Cookies ต้องมีรายละเอียดส่วนใดบ้าง
เจ้าของเว็บไซต์ควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Cookies ในเว็บเบราว์เซอร์มากขึ้น แม้ว่า Cookies นั้นคือสิ่งทั่วไปที่หน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ มีเหมือน ๆ กันหมด อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการทำ Cookies เว็บไซต์ที่ถูกกฎหมาย และมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีจะมีเหมือนกันหมด เพราะข้อมูลสำคัญ และถูกต้องการกฎหมาย PDPA นั้นมีดังต่อไปนี้
- ผู้ใช้งานต้องมีสิทธิ์เลือกที่จะยินยอมให้ใช้คุกกี้ที่ไม่จำเป็น (Non-necessary Cookies)
- ควรมีรายละเอียด และวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมคุกกี้ที่จำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
- ควรมีลิงก์การเชื่อมต่อไปที่หน้านโยบายการใช้คุกกี้ (Cookies Policy)
- ควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ที่กำหนดด้วยตนเอง (First Party Cookies) หรือที่กำหนดโดยผู้อื่น (Third Party Cookies)
- ควรมีระยะเวลาการจัดเก็บคุกกี้ชี้แจงว่าเป็นคุกกี้ประเภทชั่วคราว (Session Cookies) หรือเป็นแบบถาวร (Persistenr Cookies)
- ควรมีแบนเนอร์คุกกี้ (Cookie Banner) ในส่วน Footer ของหน้าเว็บไซต์
- ควรมีรายละเอียดกับเกี่ยวกับบุคคลที่แชร์ข้อมูล
- ควรมีวัตถุประสงค์และประเภทของการใช้คุกกี้
- ควรมีการจัดกลุ่มประเภทของคุกกี้
- ควรมีความยินยอมการใช้คุกกี้ตามวัตถุประสงค์จากคุกกี้ที่ไม่จำเป็น (Non-necessary Cookies)
- ควรให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถเลือกตั้งค่าการใช้คุกกี้ได้เองด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
- ควรมีระบบให้ตรวจสอบและข้อความยินยอมให้ใช้คุกกี้ของผู้ใช้งาน
- ควรจัดเก็บ Cookie Consent ไว้ระยะเวลาหนึ่งตามข้อกฎหมาย
- ควรมีการเข้าถึงนโยบายการใช้คุกกี้บนเว็บไซต์ได้ง่าย
- ควรมีช่องทางให้ผู้ใช้งานยกเลิกการใช้คุกกี้
ประเภทของ Cookies ที่นิยมใช้งานทั่วไป
ประเภทของ Cookies คืออีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เจ้าของเว็บไซต์และนักการตลาดควรทำความรู้จัก เพื่อให้การใช้งาน Cookies เว็บไซต์นั้นเหมาะสม และถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยประเภทของ Cookies ที่ควรรู้จักกันในเบื้องต้นนั้น มีดังนี้
First-Party Cookies
First-Party Cookies คือ คุกกี้บนเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าของเว็บไซต์โดยตรง และผู้ที่สามารถเห็นข้อมูลเหล่านี้ได้คือเจ้าของเว็บไซต์เท่านั้น นิยมใช้งานสำหรับทำหน้าที่เหมือนหน่วยความจำระยะยาวของเว็บไซต์ คุกกี้ประเภทนี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าเมนูบนเว็บ, ภาษาที่เลือก, ธีม หรือ บุ๊กมาร์ก เป็นต้น
Third-Party Cookies
Third-Party Cookies คือ คุกกี้บนเว็บไซต์ที่ถูกติดตั้งโดยองค์กรบุคคลที่สาม เช่น Facebook Pixel ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหว ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ ซึ่งคุกกี้ประเภทนี้มักนำมาใช้ในการทำการตลาดออนไลน์ และนิยมใช้กันมากในกลุ่มธุรกิจ E-Commerce เพื่อชุดข้อมูลดังกล่าวมาใช้ยิงแอด ทำโฆษณา หรือพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเพิ่มยอดขายและยอดในการเข้าถึงเว็บไซต์ให้เพิ่มมากขึ้น
HTTP-Only Cookies
HTTP-Only Cookies คือคุกกี้บนเว็บไซต์ที่ทำงานร่วมกับ Secure Cookies ในการป้องกันการถูกโจมตีด้วยไวรัส มัลแวร์ หรือวิธี Cross-site scripting ที่เป็นเทคนิคที่ผู้ไม่หวังดีใช้จับตาดูเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีจุดบกพร่องของระบบรักษาความปลอดภัยและแอบนำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ
Session Cookies
Session Cookies คือคุกกี้บนเว็บไซต์ที่เหมือนหน่วยความจำชั่วคราวของเว็บไซต์ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ แต่จะไม่มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลส่วนตัว เมื่อผู้ใช้งานทำการปิดเบราว์เซอร์ ไฟล์ข้อมูลจากคุกกี้ต่าง ๆ จะถูกลบทิ้งทันที
Persistent Cookies
Persistent Cookies คือคุกกี้บนเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับจดจำความชอบของคุณภายในเว็บไซต์ โดยข้อมูลที่ได้จะถูกจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และจะถูกดึงข้อมูลมาใช้ทุกครั้งที่คุณเข้าใช้อีกครั้ง คุกกี้ประเภทนี้จะอยู่ตลอดระยะเวลาตามที่คุณได้ตั้งค่าไว้ และจะไม่หายไปหากไม่มีการถอนการติดตั้ง
Secure Cookies
Secure Cookies คือคุกกี้บนเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับส่งผ่านการเชื่อมต่อข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสเอาไว้ คุกกี้ตัวนี้จะช่วยปกป้องข้อมูลสำคัญของผู้ใช้งานไม่ให้มีถูกดักระหว่างการรับส่งข้อมูล
Samesite Cookies
Samesite Cookies คือคุกกี้บนเว็บไซต์ที่ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยในการเข้าถึงเว็บไซต์ โดยคุกกี้ตัวนี้จะมีการควบคุมการรับส่งคุกกี้ระหว่างเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้ทำการส่งข้อมูลไปยังเป้าหมายที่มีโดเมนเหมือนเดิมเท่านั้น
Zombie Cookies
Zombie Cookies คือคุกกี้บนเว็บไซต์ที่สร้างระบบการทำงานขึ้นมาใหม่ได้เมื่อทำการสำรองข้อมูล (ฺBack up) เพื่อทำการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานบนเว็บไซต์
สรุปเกี่ยวกับการทำ Cookies สำหรับเว็บไซต์
สรุปแล้ว Cookies คือ ไฟล์จัดเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในเบราว์เซอร์ของผู้ใช้งานเมื่อเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่าง ๆ โดย Cookies จะจดจำพฤติกรรมในการใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์และเก็บบันทึกข้อมูล เพื่อเป็นการปรับปรุงเว็บไซต์ ให้คุณสามารถเข้าใช้งานบนเว็บไซต์ได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่มีความอันตรายใด ๆ ตามที่หลาย ๆ คนมีความกังวลใจ
สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์หรือต้องการออกแบบสื่อเป็นของตนเอง แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ เราขอแนะนำผู้ให้บริการ Markety เพราะนอกจากทางผู้ให้บริการจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการให้บริการ รับทำเว็บไซต์, รับทำ Landing Page และ รับทำ Sale Page อีกด้วย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Email : [email protected] หรือเบอร์โทรติดต่อ 02-002-9322 (ฝ่ายบริการลูกค้า), 084-509-5545 (ฝ่ายขาย) และ 061-924-7449 (ฝ่ายขาย)
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำ Cookies เว็บไซต์
สำหรับคนที่ทราบแล้วว่า Cookies คืออะไร และมีคำถามสงสัยเพิ่มเติม เราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยสำหรับมือใหม่มาให้แล้วคุณแล้ว
1. หากเก็บข้อมูลโดยไม่ขออนุญาต Cookies Consent จะเกิดอะไรขึ้น
หากเว็บไซต์ไหนมีการเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับการอนุญาตจะมีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองตาม เนื่องจาก Cookie Consent ถูกทำขึ้นเพื่อเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานแล้ว ยังเป็นเพราะต้องทำตามกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย ดังนั้นหากใครฝ่าฝืนจะมีโทษตามมา ดังนี้
- โทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี และ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- โทษทางแพ่ง จ่ายสินไหมไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมที่แท้จริง
- โทษทางปกครอง ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท
2. ข้อมูลที่ถูกเก็บโดย Cookies จะถูกนำไปทำอะไรบ้าง
เจ้าของเว็บไซต์สามารถตั้งค่าให้ Google Analytics เก็บข้อมูลจาก Cookies เพื่อให้เว็บไซต์นำข้อมูลของผู้ใช้งานไปทำการตลาดต่อและปรับปรุงการทำเว็บไซต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานอีกด้วย
อ้างอิง
McNally, C. (2023, July 28). What Are Internet Cookies and How Are They Used?. Allaboutcookies. https://allaboutcookies.org/what-is-a-cookie
What are Cookies?. (2020, October 7). Kaspersky. https://usa.kaspersky.com/resource-center/definitions/cookies
What are cookies? | Cookies definition. (n.d.). Cloudflare. https://www.cloudflare.com/learning/privacy/what-are-cookies/